การออกแบบโลโก้ร้านกาแฟที่ดีต้องทำอย่างไร

เมื่อ : 28 พ.ย. 2567  ,  3 Views

ตำแหน่งที่ตั้ง สูตรกาแฟ แบบแผนธุรกิจ หรือแม้แต่ชื่อร้าน ก็ได้เตรียมพร้อมเอาไว้หมดแล้ว เหลือเพียงแค่โลโก้นี่แหละที่คิดยังไงก็ไม่เป็นรูปเป็นร่างสักที ซึ่งถ้าหากคุณผู้อ่านกำลังวางแผนเปิดร้านกาแฟแต่ยังติดอยู่ที่ขั้นตอนการสร้างสรรค์โลโก้แบรนด์ของตนเอง ให้ออกมาแข่งขันกับคู่แข่งที่มีอยู่มากมายในตลาดปัจจุบันได้ วันนี้เราก็มีคำแนะนำที่จะช่วยให้คุณสามารถจบขั้นตอนการทำโลโก้ได้อย่างมืออาชีพ แถมยังช่วยให้ร้านของคุณเป็นที่จดจำได้ง่ายมาฝากให้ได้นำไปประยุกต์ใช้กัน 

 

ลักษณะของโลโก้มีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่

Symbol = รูปสัญลักษณ์

Lettermark = แสดงชื่อหรือตัวอักษร

Combinationmark = การนำทั้งแบบ Symbol และ Lettermark มาผสมกันจนออกมาเป็นงานชิ้นเดียว

Emblem = ลักษณะตราประทับ

 

ซึ่งสำหรับร้านกาแฟเราแนะนำให้เลือกการออกแบบสไตล์ Lettermark, Combinationmark หรือ Emblem เพราะเป็นรูปแบบที่สร้างการจดจำและทำความเข้าใจต่อสินค้าและบริการของเราได้ง่าย เนื่องจากมี อักษร รวมถึงรูปภาพ ที่ถูกใช้ในการนำเสนอ 

 

ขณะเดียวกัน ลักษณะโลโก้ที่ดียังต้องมีความสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายลูกค้า ทั้งลูกค้ากลุ่มตลาด Mass และกลุ่ม High-end เนื่องจากลูกค้าทั้งสองกลุ่มต่างก็มีรสนิยมการบริโภคแตกต่างกันออกไป โดยหากเป็นกลุ่มตลาด High-end โลโก้ควรจะมีการออกแบบให้มีความหรูหรา และสวยงามมีระดับ หรือใช้หลักการทางศิลปะที่ช่วยให้งานออกมาเป็นที่ยอมรับ ส่วนโลโก้สำหรับตลาด Mass จะเน้นไปในทิศทางเข้าใจง่าย การออกแบบไม่มีความซับซ้อนจนถึงขนาดต้องตีความ ไม่ก็ออกแบบตามลักษณะที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ที่สำคัญคือให้ความรู้สึกที่ดูเป็นกันเอง ลูกค้าทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ง่าย

 

ส่วนเทคนิคการออกแบบโลโก้สำหรับทำธุรกิจร้านกาแฟ จะมีอยู่ด้วยกันดังต่อไปนี้

 

โลโก้ต้องสื่อสารได้ชัดเจน

การออกแบบโลโก้ที่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภค ให้พวกเขาสามารถเข้าใจธุรกิจของเรา จะช่วยเพิ่มโอกาสการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า เพราะลูกค้าจะรับรู้ได้ทันทีว่าเรากำลังขายอะไรอยู่ โดยในโลโก้ร้านกาแฟที่ดีจะมีองค์ประกอบด้วยกัน 3 อย่าง ดังต่อไปนี้

 

รูปภาพ หรือ สัญลักษณ์

= ควรใช้รูปหรือองค์ประกอบใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟ เช่น เมล็ดกาแฟ หรือ แก้วกาแฟ เพราะเป็นภาพที่ทำให้เข้าใจว่าคือร้านกาแฟได้ง่ายที่สุด

 

ตัวอักษร 

= ใช้ตัวอักษรที่สั้นกระชับ สามารถอ่านได้ง่าย และใช้ฟอนต์ที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจ เช่น ฟอนต์ ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกผ่อนคลาย เป็นต้น

 

สี

= แนะนำให้ใช้สีน้ำตาลที่สื่อถึงสีของกาแฟ และใช้สี ทอง ส้ม หรือ เหลือง อันเป็นสีที่ช่วยกระตุ้นการค้าขายเข้ามาเป็นองค์ประกอบรอง

 

ข้อควรระวัง*

ควรใส่ส่วนประกอบต่าง ๆ ในปริมาณที่พอเหมาะ อย่าใส่เยอะจนลายตา ซึ่งจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของโลโก้ไม่สามารถสื่อถึงลูกค้าได้อย่างชัดเจน


ใส่ตัวตนของตนเองลงไป

อย่างไรก็ตามหากเราออกแบบโลโก้โดยอิงตามหลักการทั้งหมด มันก็จะทำให้โลโก้ของร้านเรา ออกมาใกล้เคียงกับคู่แข่งที่ใช้หลักการเดียวกัน เพราะฉะนั้น เราจึงควรใส่สิ่งที่สะท้อนถึงตัวตน ไม่ว่าจะใช้เป็นองค์ประกอบหลักหรือกิมมิค เพื่อให้เกิดความแตกต่าง ซึ่งถ้าหากคุณคิดไม่ออกว่าจะใส่อะไรลงไปเราก็มีข้อแนะนำเกี่ยวกับแนวคิดการค้นหาตัวตนที่จะใส่ลงไปมาแนะนำด้วยเช่นเดียวกัน

 

1.ความเป็นมาของร้าน

การบอกเล่าเรื่องราวหรืออดีตที่ทำให้ร้านกาแฟของคุณเกิดขึ้นมา อย่างเช่น เป็นร้านที่ใช้สูตรกาแฟของคุณย่า ก็จะใส่รูปที่คล้ายกับคุณย่าลงไป หรือหากเป็นร้านที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างคน 3 คน ก็อาจจะใส่เลข 3 เข้าไปเป็นส่วนประกอบหลัก เป็นต้น

 

2.ลักษณะเฉพาะ

จะใช้ตามจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ที่ร้านของคุณมี เช่น ร้านขายกาแฟขี้ช้างเป็นสินค้าหลัก ก็จะใช้รูปช้างเข้ามาเป็นส่วนประกอบ หรือ ร้านตั้งอยู่ใกล้บริเวณแลนด์มาร์คที่มีชื่อเสียง ก็จะนำเอาหน้าตาของแลนด์มาร์คมาใช้ทำโลโก้ด้วย เป็นต้น


การออกแบบโลโก้ที่มีประสิทธิภาพจะต้องใช้หลักการด้านธุรกิจเป็นพื้นฐานในการออกแบบ เพื่อให้ร้านกาแฟสามารถสร้างรายได้เป็นไปตามเป้า รวมถึงการแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ ที่บ่งบอกว่าเราไม่ได้มาเล่น ๆ นั่นเอง