สรุปวิธีคำนวณ ค่าเสื่อมราคา 3 แบบ ถ้าเปิดร้านกาแฟ ซื้อเครื่องชง 100,000 บาท จะคิดค่าเสื่อมอย่างไร ?

เมื่อ : 08 ต.ค. 2567  ,  5655 Views
สรุปวิธีคำนวณ ค่าเสื่อมราคา 3 แบบ ถ้าเปิดร้านกาแฟ ซื้อเครื่องชง 100,000 บาท จะคิดค่าเสื่อมอย่างไร ? | ข้อมูลจากเพจ BrandCase

 
ค่าเสื่อมราคา หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ค่าเสื่อม = ค่าใช้จ่ายที่ทยอยรับรู้ จากสินทรัพย์ที่นำมาใช้ในการทำธุรกิจ แล้วเสื่อมโทรมลง
 
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเปิดร้านกาแฟ แล้วลงทุนซื้อเครื่องชงกาแฟมา 100,000 บาท มันไม่ใช่ว่าเราจะใช้เครื่องชงตัวเดียวนี้ไปได้ชั่วนิรันดร์
 
เพราะยิ่งใช้ไปเรื่อย ๆ เครื่องชงกาแฟเราก็ยิ่งเก่าลง โทรมลง จนสุดท้ายต้องซื้อใหม่
ค่าเสื่อมราคา เลยเป็นตัวแทนของมูลค่าความเก่า ความชำรุดทรุดโทรม ที่เกิดขึ้นตลอดการใช้งานสินทรัพย์นั้น
ซึ่งแม้เราจะไม่ได้จ่ายต้นทุนส่วนนี้ออกไปเป็นเงินจริงระหว่างทาง
 
แต่สุดท้ายมันจะเกิดเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายจริง ในวันที่เครื่องชงกาแฟเราพัง และต้องซื้อเครื่องใหม่
นี่คือคอนเซปต์คร่าว ๆ ของคำว่า ค่าเสื่อมราคา ..
 
โดยตัวละครในเรื่อง ค่าเสื่อมราคา จะมีหลัก ๆ 2 ตัวคือ
 
-ราคาทุน = ราคาสินทรัพย์ที่เราลงทุนซื้อมา เช่น เครื่องชงกาแฟ ราคา 100,000 บาท
-มูลค่าซาก = มูลค่าหรือราคา ของสินทรัพย์นั้น หลังจากสิ้นสภาพการใช้งานแล้ว
 
แล้วค่าเสื่อมราคา คิดออกมาเป็นตัวเลขอย่างไร ?
มันก็จะมีหลัก ๆ 3 วิธี ที่นิยมใช้ มาดูกันทีละข้อ
 
1. วิธีเส้นตรง (Straight Line Method)
การคิดค่าเสื่อมราคาด้วยวิธีนี้ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และธุรกิจทั่วไปนิยมใช้กัน
โดยวิธีคือ จะตัดมูลค่าของสินทรัพย์ที่เราใช้ทำธุรกิจ เท่า ๆ กันทุกปี
ซึ่งเราสามารถคิดได้จากสูตร
ค่าเสื่อมราคา = (ราคาทุน - มูลค่าซาก) / อายุการใช้งาน
ตัวอย่างการคำนวณเช่น : เครื่องชงกาแฟมูลค่า 100,000 บาท
คาดว่าสามารถใช้งานได้ 5 ปี และมีราคาขายต่อ (มูลค่าซาก) หลังจากการใช้งาน 10,000 บาท
เพราะฉะนั้น ค่าเสื่อมราคาตามวิธีนี้ จะเท่ากับ (100,000 - 10,000) / 5 = 18,000 บาท ต่อปี
 
2. วิธีจำนวนปีคงเหลือ (Sum-of-the-Years' Digits method)
การคิดค่าเสื่อมราคาด้วยวิธีนี้ เป็นการตัดมูลค่าสินทรัพย์สูง ๆ ในช่วงแรก
และปีต่อ ๆ ไปก็จะค่อย ๆ ตัดมูลค่าสินทรัพย์น้อยลงเรื่อย ๆ
สูตรที่ใช้ก็คือ
ค่าเสื่อมราคา = (ราคาทุน - มูลค่าซาก) x (จำนวนปีที่เหลือ / ผลรวมจำนวนปี)
เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ก็จะขอโชว์ตัวอย่างการคำนวณให้เห็นภาพชัด ๆ
เครื่องชงกาแฟมูลค่า 100,000 บาท และมีอายุการใช้งาน 5 ปี และมีมูลค่าซาก 10,000 บาท
 
จะมีขั้นตอนการคำนวณคือ
 
Step 1: หาราคาทุน - มูลค่าซากก่อน เท่ากับ 100,000 - 10,000 = 90,000 บาท
 
Step 2: หาผลรวม ของจำนวนปีคงเหลือทั้งหมด
จากโจทย์ เครื่องชงกาแฟ มีอายุการใช้งาน 5 ปี ผลรวมของจำนวนปี จะเท่ากับ 5 + 4 + 3 + 2 + 1 = 15
 
Step 3: หาอัตราส่วนของ จำนวนปีคงเหลือ ต่อผลรวมของจำนวนปี โดยจะได้ว่า
- ปีที่ 1 = 5/15
- ปีที่ 2 = 4/15
- ปีที่ 3 = 3/15
- ปีที่ 4 = 2/15
- ปีที่ 5 = 1/15
 
Step 4: นำอัตราส่วนที่คิดได้จาก Step 3 ไปคูณกับ (ราคาทุน - มูลค่าซาก) ที่คิดได้จาก Step 1
เราก็จะได้ค่าเสื่อมราคาของแต่ละปี ตามข้างล่างนี้
- สิ้นปีที่ 1 เท่ากับ (5/15) x 90,000 บาท = 30,000 บาท
- สิ้นปีที่ 2 เท่ากับ (4/15) x 90,000 บาท = 24,000 บาท
- สิ้นปีที่ 3 เท่ากับ (3/15) x 90,000 บาท = 18,000 บาท
- สิ้นปีที่ 4 เท่ากับ (2/15) x 90,000 บาท = 12,000 บาท
- สิ้นปีที่ 5 เท่ากับ (1/15) x 90,000 บาท = 6,000 บาท
โดยวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาแบบนี้ จะนิยมคิดกับสินทรัพย์ที่มีมูลค่าลดลงเร็วในช่วงแรกของอายุการใช้งาน
อย่างเช่นสินค้าที่ตกสเป็กเร็ว เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน
 
3. คิดค่าเสื่อมราคา ตามหน่วยการผลิต (Units-of-Production Method)
วิธีคิดค่าเสื่อมราคาแบบนี้ จะตัดมูลค่าตามการใช้งานจริงของสินทรัพย์
จากตัวอย่าง เครื่องชงกาแฟมูลค่า 100,000 บาท
คาดว่าสามารถชงกาแฟได้ 90,000 แก้ว ก่อนที่เครื่องชงกาแฟจะพังและชงต่อไม่ได้
และเครื่องชงกาแฟ มีมูลค่าซากอยู่ที่ 10,000 บาท
 
เราก็จะคำนวณค่าเสื่อมราคาได้ดังนี้
- สิ้นปีที่ 1
สมมติว่า สามารถชงกาแฟได้ 20,000 แก้ว
เราก็จะคิดค่าเสื่อมราคา ได้เท่ากับ (20,000 / 90,000) x (100,000 - 10,000) = 20,000 บาท
- สิ้นปีที่ 2
สมมติว่า สามารถชงกาแฟได้ 10,000 แก้ว
เราก็จะคิดค่าเสื่อมราคา ได้เท่ากับ (10,000 / 90,000) x (100,000 - 10,000) = 10,000 บาท
- สิ้นปีที่ 3
 
สมมติว่า สามารถชงกาแฟได้ 30,000 แก้ว
เราก็จะคิดค่าเสื่อมราคา ได้เท่ากับ (30,000 / 90,000) x (100,000 - 10,000) = 30,000 บาท
โดยวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาแบบนี้ จะนิยมคิดกับสินทรัพย์อย่างเช่น เครื่องจักรในโรงงานผลิต ที่ผลิตชิ้นงานได้ไม่เท่ากันในแต่ละปี
 
จะเห็นได้ว่า วิธีคิดค่าเสื่อมราคาทั้ง 3 วิธี ที่กล่าวมานั้น จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
จากเคสตัวอย่าง เครื่องชงกาแฟ มูลค่า 100,000 บาท
 
โดย ณ สิ้นปีที่ 1
- ถ้าเราคิดด้วยวิธีที่ 1 คือวิธีเส้นตรง เราจะได้ค่าเสื่อมราคา 18,000 บาท
- ถ้าเราคิดด้วยวิธีที่ 2 คือวิธีจำนวนปีคงเหลือ เราจะได้ค่าเสื่อมราคา 30,000 บาท
- ถ้าเราคิดด้วยวิธีที่ 3 คือวิธีคิดตามหน่วยการผลิต เราจะได้ค่าเสื่อมราคา 20,000 บาท
โดยถ้าสมมติว่า ณ สิ้นปีที่ 1 เรามีกำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา 50,000 บาท
 
หมายความว่า ถ้าเราคิดค่าเสื่อมราคาตามวิธีที่ 1 รวมไปในต้นทุนของร้านกาแฟเราด้วย เราจะเหลือกำไรสุทธิจริง ๆ = 32,000 บาท
 
หรือถ้าเราคิดค่าเสื่อมราคาตามวิธีที่ 2 เราจะเหลือกำไรสุทธิจริง ๆ = 20,000 บาท
หรือถ้าเราคิดค่าเสื่อมราคาตามวิธีที่ 3 เราจะเหลือกำไรสุทธิจริง ๆ = 30,000 บาท
จะเห็นว่า แม้ค่าเสื่อมราคา จะเป็นต้นทุนที่ไม่จ่ายออกไปเป็นเงินสดจริง ๆ แต่ก็สำคัญมาก
และแม้เราจะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ
 
แต่การคิดค่าเสื่อมราคา รวมเข้าไปในต้นทุนการทำธุรกิจของเราด้วย
ก็จะช่วยให้เรา รอบคอบในเรื่องการทำธุรกิจ ได้อีกเลเวล..