บทความ
ร้านเครื่องดื่มสีส้มเด่นกว่า 19 สาขากับชื่อร้านจำง่าย “ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน”
เมื่อ : 01 เม.ย. 2568 ,
2 Views

จากเบื้องหลังไอเดียของ ‘วิว - พันธ์ทิพย์ ดีเจริญ’ เจ้าของร้านคนรุ่นใหม่วัย 20 นิดๆ วิธีการคิด การสร้างแบรนด์ตลอด 2 ปี เธอทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ และสร้างยอดขายถึง 1 ล้านแก้วไปเมื่อ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
.
บทสัมภาษณ์นี้ TODAY Bizview จะพาไปรู้จักกับ วิว-พันธ์ทิพย์ และแบรนด์ชื่อเก๋แบรนด์นี้มากขึ้น จากเดย์ 1 ที่เริ่มธุรกิจคาเฟ่ จนถึงวันที่ตกตะกอนจากอินไซต์เกี่ยวกับพฤติกรรมคนไทยที่ชอบดื่ม ‘ชาเย็น’ ทุกๆ วันไม่ต่างกับกาแฟ และกลายมาเป็นธุรกิจน้องเล็กที่มียอดขายทะลุ 100 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย
.
[ ทำธุรกิจต้องแตกต่าง มองหาโอกาสในตลาด Red Ocean ]
.
วิว-พันธ์ทิพย์ เล่าว่า จากเดิมก่อนที่จะมีร้านฉันจะกินชาเย็นทุกวัน เธอได้เปิดร้านคาเฟ่มาก่อน แต่พอมันเริ่มเป็น Red Ocean หนึ่งในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมากในประเทศไทย เธอจึงเริ่มมองหาทางรอดอื่น
.
“ตอนนั้นเราเริ่มมองหาว่าจะเป็นโปรดักส์อะไรดี ที่ยังมีผู้เล่นน้อย แต่ยังมีดีมานด์อยู่ มันก็คือ ‘ชาเย็น’ นี่แหละ ซึ่งเราเองก็มีอยู่แล้วด้วย บวกกับอินไซต์ลูกค้าที่น่าสนใจก็คือ ลูกค้าทาน(ชาเย็น) ทุกวัน มีการ repeat ซื้อซ้ำทุกวัน”
.
“เรามองว่ามันเป็นพฤติกรรมของลูกค้าเลย เราก็เลยหยิบชาเย็นมาเป็นเหมือน big idea ที่จะขยายไปอย่างอื่นต่อ ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มอย่างเดียว”
.
“หลักๆ คือเราต้องรู้ก่อนว่า เราจะขายใคร”
.
เธอเล่าว่า ด้วยความที่คนซื้อชาเย็นทุกวัน เลยหยิบมาเป็นชื่อร้าน “ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน” เพราะคิดว่าเป็นชื่อที่เหมาะ สื่อสารง่าย แม้ว่าชื่ออาจจะเหมือนขายเฉพาะเครื่้องดื่ม แต่ความจริงไม่ใช่
.
‘ชาเย็น’ คำๆ นี้สำหรับ วิว-พันธ์ทิพย์ มันคือสี, กลิ่น, รสชาติ, น้ำ อะไรก็ได้ที่สามารถ transform ไปเมนูอื่นได้ ทั้วที่เป็นขนม เครื่องดื่ม หรือ non-foods ก็ด้วย
.
“เราเน้นทำแบรนด์ดิ้งชัดขึ้น ทำให้ชาเย็นเข้าถึงง่าย เรามองคำว่า ‘ครีเอทีฟ’ มันไม่มีวันสิ้นสุด มันมีความแปลกใหม่ไปเรื่อยๆ คือเราสามารถดิ้นได้ในทุกโอกาส”
.
“โจทย์หลักของการทำแบรนด์ดิ้งก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าจำได้ ลูกค้าต้องเข้าใจว่าเราขายอะไร พอรู้แล้วว่าจะขายให้ใคร ก็ต้องรู้ว่า ควรสื่อสารแบบไหน ใช้คำพูดแบบไหน หรือใช้สีอย่างไร”
.
[ อยากยืนระยะนาน ธุรกิจต้องอยู่ในสายตาลูกค้าตลอด ]
.
ยอดทราฟฟิกต่อวันของร้านฉันจะกินชาเย็นทุกวัน (สาขาบรรทัดทอง) เฉลี่ยแล้วตกวันละประมาณ 1,000 แก้ว ซึ่งสาขาอื่นอีก 18 สาขาที่เหลือก็ลดหลั่นตามกันไปขึ้นอยู่กับโลเคชั่นและช่วงเวลา แต่โดยเฉลี่ยแล้วยอดขายต่อวันก็ไม่หนีกันมาก
.
ยิ่งไม่กี่สัปดาห์ก่อน ฉันจะกินชาเย็นทุกวันเพิ่งฉลองยอดขาย 1 ล้านแก้วในรอบ 2 ปีตั้งแต่ที่ทำธุรกิจมา ถือว่าเป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างเร็ว
.
ส่วน Basket Size ต่อคน อยู่ที่ประมาณ 150 บาท เพราะตอนนี้ธุรกิจไม่ได้มีเครื่องดื่ม แต่มีขนมด้วย
.
“เทรนด์ธุรกิจอาหารถือเป็นความท้าทายมากๆ เพราะมาเร็วก็ไปเร็ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราต้อง stand อยู่ในโซเชียลให้ได้นานๆ ทำให้ลูกค้าเห็นเราอยู่เรื่อยๆ พยายามหาโปรดักส์ใหม่ ออกแคมเปญใหม่สม่ำเสมอ”
.
“อาจจะทำหลายๆ วิธี เช่น การไป collab กับแบรนด์อื่น, สร้าง Wow Moment ให้ลูกค้าได้เห็นเราอยู่สม่ำเสมอในโซเชียล”
.
ทั้งยังเล่าถึงแบรนด์แรกที่ทำ collab กันก็คือ ‘Haab’ ซึ่งเป็นขนมไส้ชาเย็น และได้ผลตอบรับค่อนข้างดี
.
เธอมองว่า การประเมินว่าเราไม่มีศักยภาพด้านไหนบ้าง แล้วร่วมมือกับแบรนด์อื่นที่ถนัดกว่า หรือใช้วิธี co-marketing ด้วยกัน อาจจะทำให้แบรนด์ถึงฝั่งฝันเร็วกว่าที่ลงมือทำเอง
.
“การทดลองการตลาดของเรามที่ผ่านมา มีทั้งเฟลและไม่เฟล แต่มันไม่ใช่เรื่องผิด
เราแค่ต้องการให้ลูกค้ามี extension กับเรามากขึ้น พอมันเฟล เราก็แค่ปรับปรุงใหม่”
.
นอกจากนี้ วิว-พันธ์ทิพย์ ยังพูดถึงการบาลานซ์ระหว่าง ‘กำไร’ กับ ‘แบรนด์ดิ้ง’ ว่าบางครั้งมันต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งการทำเพื่อสร้างการรับรู้บางทีก็ต้องยอมรับว่า สิ่งนั้นอาจจะไม่สร้างกำไรให้เราเลยก็ได้
.
อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายจะเฟลทั้ง 2 ด้าน ขาดทุนไม่พอ ยังกระตุ้นการรับรู้ไม่ได้อีก ก็คงต้องถือว่าเป็น ‘บทเรียน’ ที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตกตะกอนได้เอง
.
“สำหรับวิวคือ เราต้องเดาไปเรื่อยๆ เพราะว่าไลฟ์สไตล์กับพฤติกรรมลูกค้ามันคาดเดาไม่ได้เลย”
.
[ แพลนปี 2025 และในอนาคต ]
.
- ปี 2025 เป็นการขยายสาขาตาม ‘หัวเมืองใหญ่’ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
- 2025 ปีแห่งการพัฒนาเมนูใหม่
- ปีนี้จะมีการทำ collaboration เหมือนเดิม เพิ่มเติมอาจจะว๊าวกว่าเดิม
- เน้นการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น
- เป็นปีที่สินค้าของ ‘ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน’ วางขายบนแพลตฟอร์ม E-Marketplace เช่น Shoppe, LAZADA
- ในอนาคตอาจจะมีการทำธุรกิจแบบ B2B โดยฉันจะกินชาเย็นทุกวัน จะเป็นวัตถุดิบ (Raw Material) ให้กับแบรนด์อื่น
.
เจ้าของกิจการ ‘ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน’ ยังแชร์ด้วยว่า ในอนาคตลูกค้าจะมองหา comfort food มากขึ้น เป็นความเบสิคที่ไม่เบสิค ซึ่งสำหรับวิว-พันธ์ทิพย์ มองว่า การตีโจทย์และกลุ่มเป้าหมายชัดเจน จะทำให้เราโฟกัสทิศทางธุรกิจได้ง่าย
.
อย่างที่เธอเลือกที่จะ โฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดีไปเลย ซึ่งเธอเปรียบเทียบว่า คล้ายกับการอ่านหนังสือคือ เลือกวิชาใดวิชาหนึ่งแล้วเรียนให้เก่งไปเลย ดีกว่าอ่านหนังสือเป็น 10ๆ วิชาเพื่อให้ตัวเองเก่ง ซึ่งเธอคงไม่ถนัดแบบนั้น
.
ก็น่าจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมเธอเลือกที่จะขยายแบรนด์ใหม่ชื่อว่า ‘เข้ม’ ซึ่งโฟกัสที่น้ำกาแฟโบราณ และโกโก้สำหรับคนที่ชอบความเข้มข้มตามชื่อร้าน โดยเป็นการสร้างบทบาทให้กับเครื่องดื่มประเภทนี้ในชื่อแบรนด์ใหม่ มากกว่าจะที่ add-on เมนูเข้ามาที่ร้านฉันจะกินชาเย็นทุกวัน เพราะมันอาจส่งผลเสียมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องแบรนด์ดิ้ง และกลุ่มลูกค้าที่ไม่ตรงจุด