ประสบการณ์กาแฟกับ Mirror Neurons ศาสตร์แห่งความรู้สึกร่วมผ่านศิลปะของบาริสต้า

เมื่อ : 23 ก.พ. 2568  ,  32 Views
ในโลกของกาแฟ ศาสตร์และศิลป์มาบรรจบกันเพื่อสร้างประสบการณ์ที่มากกว่าการดื่มกาแฟ
บาริสต้าไม่เพียงทำหน้าที่ชงกาแฟ แต่ยังเป็นศิลปินที่สื่อสารความตั้งใจผ่านทุกท่วงท่าการเคลื่อนไหว ตั้งแต่การเลือกเมล็ดกาแฟ การนำเสนอ การบดเมล็ดกาแฟ การรินน้ำร้อน เมื่อเราสังเกตกระบวนการเหล่านี้ สมองของเรากำลังทำงานผ่านกลไกของ mirror neuron system ซึ่งช่วยให้เราสามารถรับรู้ความหมายและความตั้งใจของการกระทำเหล่านั้นได้
.
Mirror neurons เป็นเครือข่ายเซลล์ประสาทที่ถูกค้นพบครั้งแรกในลิงแม็กแคก โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าเซลล์ประสาทเหล่านี้ถูกกระตุ้นทั้งเมื่อสัตว์ทำการกระทำใดๆ และเมื่อมันสังเกตสัตว์ตัวอื่นกระทำสิ่งเดียวกัน (1) ในมนุษย์ ระบบ mirror neurons ทำหน้าที่สำคัญในการรับรู้พฤติกรรมทางสังคม ความตั้งใจ หรือเจตนา (2) และอารมณ์ของผู้อื่น ได้ง่ายขึ้น สุขหรือเศร้าตามคนอื่น รับรูุุุุ้ถึงความตั้งใจหรือเจตนาที่ดีของคนทำกาแฟให้เราดื่มได้
.
ซึ่งสิ่งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์การรับชมบาริสต้าทำกาแฟ หากบาริสต้ามีความตั้งใจ ใส่ใจและความพิถีพิถันในการทำกาแฟ ผู้สังเกตจะสามารถสัมผัสถึงความมุ่งมั่นและความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์เครื่องดื่มที่สมบูรณ์แบบได้ กระบวนการนี้คล้ายกับการชมการแสดงโอเปร่า ซึ่ง mirror neurons ช่วยให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมและเข้าใจการแสดงได้อย่างลึกซึ้ง (3)
.
mirror neurons ตอบสนองต่อ การกระทำที่มีเป้าหมายชัดเจน ( goal-directed actions) เช่นการหยิบจับอุปกรณ์ในบาร์กาแฟ อย่างเป็นขั้นตอนมากกว่าการเคลื่อนไหวแบบสุ่ม เมื่อเราดูบาริสต้าทำงานอย่างมีจุดหมาย สมองของเราจะเปิดใช้งาน mirror neurons ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับกระบวนการเหล่านั้นด้วย
.
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสแบบ multisensory integration การรับรู้การชงกาแฟไม่ได้เกิดขึ้นจากการมองเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเสียงของน้ำกาแฟที่ไหล กลิ่นหอมของกาแฟบด และแม้แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อสัมผัสแก้วกาแฟ งานวิจัยพบว่า mirror neurons มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อการกระตุ้นที่มีทั้งภาพและเสียงร่วมกันมากกว่าการกระตุ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่าการที่เราสัมผัสประสบการณ์กาแฟผ่านทุกประสาทสัมผัส
.
__________________________________
ประสบการณ์กาแฟกับประสาทวิทยาแห่งสุนทรียศาสตร์
__________________________________
.
การศึกษาสุนทรียศาสตร์ผ่านมุมมองทางประสาทวิทยาศาสตร์เป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์แขนงต่าง ๆ เช่น จิตวิทยาการรับรู้ (perception), อารมณ์, ความจำ และการตัดสินใจ การเข้าใจเครือข่ายสมองที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความงามจะช่วยให้เราเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าทำไมมนุษย์ถึงชื่นชมสิ่งสวยงามและปัจจัยใดที่มีอิทธิพลต่อประสบการณ์สุนทรียศาสตร์ของเรา บทความในส่วนนี้ผมเรียบเรียงจากบทความของ Comfort และคณะ (4)
.
Aesthetic Triad: กรอบแนวคิดของสุนทรียศาสตร์
Aesthetic Triad เป็นกรอบแนวคิดที่เสนอโดย Chatterjee & Vartanian (2016) ซึ่งอธิบายว่าประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์ (aesthetic experience) เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของ 3 ระบบหลักในสมอง ได้แก่
.
1 Sensory-Motor Processing (การประมวลผลทางประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว)
เกี่ยวข้องกับการรับรู้ทางสายตา เสียง สัมผัส และการตอบสนองทางกายรวมถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายเมื่อปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะหรือสิ่งที่สวยงาม เมื่อเราดูภาพวาดของโมเนต์เราอาจรู้สึกถึงพลังของลายเส้นและจังหวะการลงสี ซึ่งกระตุ้นสมองส่วน visual cortex และ motor cortex
หรือเมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกายอย่างละเอียดละออ พิถัพิถันในทุกขั้นตอนของการฃงกาแฟ
.
2 Emotion-Valuation (การให้คุณค่าทางอารมณ์และแรงจูงใจ) เกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อรับรู้ความงาม เช่น ความสุข ความเศร้า ความตื่นเต้น ระบบรางวัลในสมอง (Reward System) มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะ Orbitofrontal Cortex (OFC) และ Ventral Striatumตัวอย่าง เมื่อเห็น ใบหน้าของคนรัก สมองส่วน OFC จะทำงาน และเรารู้สึกอบอุ่นใจ เมื่อมีการกระตุ้นด้วยกลิ่นบางอย่าง เราทำให้เราถวิลหาอดีต
.
3 Meaning-Knowledge (ความหมายและความรู้ที่เกี่ยวข้อง) เกี่ยวข้องกับการตีความความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เรารับรู้อาศัยประสบการณ์เดิม ความรู้ทางวัฒนธรรม และบริบททางสังคม
ตัวอย่าง:The Starry Night ของ Van Gogh อาจดูเป็นเพียงภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนสำหรับบางคน แต่สำหรับผู้ที่รู้ประวัติของศิลปิน อาจเห็นว่างานนี้สะท้อนถึงสภาพจิตใจของเขา
สถาปัตยกรรม Taj Mahal ไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้างที่สวยงาม แต่ยังมีความหมายลึกซึ้งเกี่ยวกับความรักและการสูญเสีย
.
ตรงนี้เองที่การนำเสนอเรื่องราวของกาแฟจะมีบทบาทาสำคัญ ในการแข่งขันฃงกาแฟจึงต้องแสดงความรู้ถึงที่มาของกาแฟ และเรื่องราวคุณค่าของกาแฟนั้นๆด้วย
.
ยังมีอีกทฤษฎีที่น่าสนใจ คือ Fluency Theory (Reber et al., 2004) บอกว่าความง่ายในการประมวลผลข้อมูลส่งผลต่อความพึงพอใจทางสุนทรียศาสตร์ คือสำหรับหลายคนแล้วยิ่งเข้าใจง่าย ยิ่งรู้สึกว่างดงาม (แน่นอนว่าย่อมต้องมีข้อยกเว้น)
.
ใครที่นำเสนอข้อมูลกาแฟในแบบการ์ด ที่วางตรงหน้าผู้ดื่ม หรือข้อมูลอื่นๆในการบอกเล่าเรื่องราวของกาแฟ ลองคำนึงถึงทฤษฎีนี้ดูครับ
.
แม้ว่ามนุษย์จะมีโครงสร้างทางประสาทเหมือนกัน แต่การรับรู้ทางสุมทรียะนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล (idiosyncratic) สิ่งที่เราทำเหมือนกันสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างกันในแต่ละคน
.
ดั้งนั้นการพูดคุยสื่อสารกันระหว่างคนทำกาแฟกับคนดื่มจึงมีความสำคัญ ซึ่งทำให้เกิดกา่รเรียนรู้ระหว่างกัน
.
โดยสรุป ประสบการณ์การดื่มกาแฟไม่ได้เป็นเพียงการบริโภคเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการของการรับรู้และมีส่วนร่วมทางอารมณ์ผ่านกลไกอันซับซ้อนเชื่อมโยงกันในสมอง
.
เมื่อเราดูบาริสต้าชงกาแฟ เราไม่ได้เพียงแค่ดู แต่สมองของเรากำลัง "สัมผัส" ถึงการกระทำนั้นด้วย ซึ่งช่วยให้เรารู้สึกถึงความตั้งใจ ความหลงใหล และความสุนทรีย์ที่ถูกถ่ายทอดออกมา หากเปรียบการชงกาแฟเป็นการแสดงศิลปะ บาริสต้าก็คือนักแสดงที่ใช้ทักษะและความชำนาญเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ดื่มผ่านกลไกของสมอง ผลลัพธ์ที่ได้คือประสบการณ์กาแฟที่ลึกซึ้งและน่าจดจำ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงกันระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ของระบบประสาท
.
และบาริสต้าหรือคนทำกาแฟเองก็ควรใส่ใจและพิถีพิถันในการทำกาแฟ เพื่อส่งผ่านคุณค่าของกาแฟไปให้ผู้ดิ่ม
.
ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำสมัยไปแค่ไหน ความจริงใจ ความจริงแท้และทักษะความเป็นมนุษย์ที่เราจะมอบให้แก่กันได้ ย่อมเป็นของล้ำค่าเสมอครับ ขอให้มีความสุขกับกาแฟและเรื่องราวครับ
.
Acknowledgement
ผู้เขียนขอขอบคุณ อ.แพท เพจ Neuromarketing ซึ่งผู้เขียนได้สอบถามขอความรู้และกรุณาให่้คำปรึกษาในการเขียนบทความนี้ครับ